พระพุทธองค์
ได้ทรงแสดงธรรมไว้อย่างละเอียดว่า “หากมนุษย์มีความสุขอยู่ในทรัพย์สมบัติ
หรือสิ่งที่ตนรักและหวงแหนก็ดี ก็จงอย่ามัวหลงเพลิดเพลินอยู่ในความสุขนั้นมากจนเกินไป แต่ควรหาโอกาสสะสมสร้างบุญกุศลกันต่อไปอีก
เพื่อเป็นทุนรอนในการที่ชะตาชีวิตจะหมุนไปสู่ทุกข์ตามกฏแห่งกรรม
ที่ตนเองเป็นผู้ก่อขึ้นทั้งในอดีตชาติ และ ชาติปัจจุบัน”
พระองค์จึงทรง
สอนในเรื่องทุกข์ ให้รู้ถึงบ่อเกิดแห่งทุกข์
ให้รู้ถึงการกระทำของตนเองที่ผ่านมา และอย่ามัวไปโทษว่าเป็นความผิดของผู้ใด
หรือสิ่งใดทั้งสิ้น
เพราะหลักของพุทธศาสนา ต้องการให้ทุกๆ
ผู้เรียนรู้ด้วยตัวของตนเองและพิจารณาตัวของตัวเอง
มิใช่ที่จะมัวแต่ไปพิจารณาผู้อื่น ทั้งนี้เพื่อให้รู้ว่าตนเองนั้นยังมีกิเลสครอบงำอยู่หลายประการที่ควรพิจารณาสะสางให้หมดไป
นอกจากนั้น
พุทธศาสนายังสอนให้พิจารณาถึง “ธรรม” และ “ตัวกระทำ”
ว่าควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรเพื่อต่อสู้กับวิบากกรรมต่างๆ
และให้มีการกระทำที่เป็น การชำระล้างตนเองจากเจ้ากรรมนายเวร
ที่มีความอาฆาตพยาบาทและตามจองล้างจองผลาญ อันเป็นหนี้กรรมที่ผูกพันกันมา
และต้องชดใช้กันไปทุกภพทุกชาติจนกว่าจะหมดหนี้กรรมซึ่งกันและกัน
ดังนั้น
พุทธศาสนาจึงสอน ให้มีการทำบุญกุศลเพื่อชดใช้ให้หมดไปทีละเล็กละน้อย
จึงจะนับว่าเป็นผู้ที่อยู่ในพุทธศาสนาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ก็เพราะเหล่า เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายเป็นต้นเหตุให้มนุษย์มีความทุกข์กาย
และทุกข์ใจ อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัว
ในสัมมาอาชีพ สุขภาพร่างกาย หรือสภาพจิตใจ
และที่สำคัญอย่างยิ่งคือทำให้ เป็นอุปสรรคต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งล้วนแล้วมีต้นเหตุมาจากวิบากกรรม
ที่เกิดจากการกระทำของตนเองต่อเหล่าเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายที่ผ่านมาในอดีตทั้งสิ้น
พระมหาโพธิสัตว์พระแม่กวนอิม เป็นผู้บัญญัติ “ศีลเจพรต”
ในการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันไว้ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล และอธิษฐานจิตอยู่คู่โลก
เพื่อช่วยเหลือมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยการ ตั้งจิตอธิษฐานอย่างแรงกล้าตั้งแต่ครั้งก่อนพุทธกาล
เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ทั้งหลายที่ยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม
ตลอดจนผู้ที่สามารถรำลึกถึงบาปที่ตนเองได้ทำไว้
เพื่อให้มนุษย์ทุกผู้ได้ขอพรต่อพระองค์
พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
ต้องการจะช่วยมนุษย์ที่รู้สึกตัวว่าเคยประพฤติตนนอกลู่นอกทาง
จนมีแต่วิบากกรรมนำมาเกิดในชาติปัจจุบัน
และมีจิตใต้สำนึกในการหมั่นบำเพ็ญเพียรสร้างบุญกุศล
และประพฤติตนอยู่ในศีลเจพรต อันจะเป็นการผ่อนปรนให้กรรมหนักนั้นเบาบางลง และค่อยๆ ชดใช้กรรมทีละเล็กละน้อย
หากท่านผู้อ่านมีจิตสำนึกถึงบาปบุญคุณโทษดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
หรือต้องการที่จะมีส่วนช่วยเหลือบรรพบุรุษหรือผู้มีพระคุณเพื่อการชดใช้หนี้กรรม
โดยการขอพักกรรมต่อเหล่าท่านเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย
ก็ควรที่จะตั้งจิตอธิษฐานขอพรต่อพระมหาโพธิสัตว์ และปฏิบัติตนอยู่บนหลักใหญ่ๆ คือ
๑.)
เป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องของกรรมดีกรรมชั่วใน “กฎแห่งกรรม”
ตามคำสอนของพระพุทธองค์
๒.) เป็นผู้ที่มีความเข้าใจในเรื่องของ “ศีลเจพรต”
ในด้านการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การละเว้นจากการบริโภคเนื้อโคและกระบือ
๓.) เป็นผู้ที่ประพฤติตนอยู่ใน
พรหมวิหาร ๔
และยึดมั่นในสัจจะของตนที่จะละจากความชั่วสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตนยังมีความบกพร่องอยู่
การเตรียมเครื่องสักการะบูชาของพระธรรมชาติ
๑.) ส้ม ๔ ผล
๒.) ดอกบัว ๙ ดอก
๓.) ธูป ๙ ดอก
๔.) เทียนขาว ๑ คู่
๕.) กิมฮวย อั้งติ๊ว ๑ ชุด ( ใช้แทนบายศรีของไทย -
มีจำหน่ายตามร้านสังฆภัณฑ์ )
๖.) หมากพลู - จันอับ ๑ ชุด
๗.) น้ำเปล่า - น้ำชา อย่างละ ๒ ถ้วย
หมายเหตุ รายการที่ ๖ และ ๗ นั้น
อาจยกเว้นได้ตามความเหมาะสม
การตั้งจิตอธิษฐานขอพักกรรม
๑.) กราบนมัสการ ๓ ครั้ง
๒.) กล่าวคำภาวนาบทสวด
“พระอิติสุขะโต
พระอะระหังพุทโธ
พระนะโมพุทธายะ พระปฐวีคงคา นะมา มิหัง ( ๒ จบ )
พระอิติสุขะโต
พระอะระหังพุทโธ
พระนะโมพุทธายะ
พระปฐวีคงคา
ขะมา มิหัง ( ๑ จบ )”
๓.) ระลึกถึงบาปกรรมที่ตนเองได้เคยกระทำผิดพลาดไว้ในอดีต
และให้มีจิตสำนึกถึงผลของการกระทำนั้นๆ เพื่อการขอขมาต่อเจ้ากรรมนายเวร (
หากเป็นการกระทำให้ญาติสนิทหรือผู้มีพระคุณ
ก็ให้ตั้งจิตบอกกล่าวว่ามาขอพักกรรมแทน.....เช่นบิดา...มารดา....ผู้มีความเกี่ยวข้อง....หรือผู้มีพระคุณ
)
๔.)
ตั้งจิตอธิษฐานกล่าวถวายเครื่องสักการะบูชา
“ข้าพุทธเจ้าขอน้อมนำเครื่องสักการะบูชาที่ได้จัดเตรียมทั้งหมดถวายต่อเสด็จพ่อฟ้า
เสด็จแม่ดิน ทั้ง ๒ พระองค์ ขอได้โปรดเมตตารับการถวายจากข้าพุทธเจ้าด้วยเถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
๕.) ตั้งจิตอธิฐานขอพักกรรมต่อเสด็จพ่อฟ้าเสด็จแม่ดิน
โดยให้สัจจะว่าจะละจากการกระทำในสิ่งที่ไม่ดีอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนเองยังมีความบกพร่อง
หรือยังผิดพลาดอยู่ เช่น.
· การรักษาศีล ๕
ของพระพุทธองค์
· หรือ
การรักษาศีลเจพรตของพระมหาโพธิสัตว์
·
หรือ สิ่งอื่นใดที่เป็นการลดละการกระทำไม่ดีต่างๆ ของตนเอง
( ตัวอย่างการกล่าวอธิษฐาน )
“ข้าพุทธเจ้าขอตั้งจิตอธิษฐานเพื่อการขอพักกรรมของข้าพเจ้า
( หรือบิดา มารดา ญาติสนิท ผู้มีพระคุณ หรือผู้ที่อยู่ในครอบครัว )
ในเรื่องของ........ (
ตามความทุกข์ยากที่เป็นอยู่ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพร่างกายหรือจิตใจ )
โดยขอให้สัจจะว่าจะละจากการกระทำที่ไม่ดีในด้าน..........(
หรือให้สัจจะว่าจะปฏิบัติตนที่ไม่เป็นการเบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่น เช่น
การรักษาศีล ๕ ของพระพุทธองค์ หรือการรักษาศีลเจพรตของพระมหาโพธิสัตว์
โดยการละจากการบริโภคเนื้อโค กระบือ หรือจะกินเจเป็นเวลาอย่างน้อย ๓
วันติดต่อเป็นต้น
หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นการลดละการ กระทำที่ไม่ดีต่างๆ ของตนเอง )
ซึ่งทั้งนี้
จะขอตั้งจิตอุทิศบุญกุศลที่ก่อเกิดจากการกระทำตามสัจจะที่ให้ไว้นี้
ต่อเหล่าท่านเจ้ากรรมนายเวรของตนเอง หรือบิดา มารดา หรือผู้มีพระคุณ เพื่อเป็นการผ่อนใช้หนี้กรรมที่มีต่อกันให้หมดสิ้นกันไป
ขอเสด็จพ่อฟ้าเสด็จแม่ดินได้โปรดเมตตาและประทานพระพรพระบารมีแก่ข้าพุทธเจ้าตามที่ทรงเห็นสมควรด้วยเถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
๖) กราบนมัสการ ๓ ครั้ง
วิธีการตั้งจิตอธิษฐานขอต่อพระมหาโพธิสัตว์เพื่อการผ่อนใช้กรรมหรือขอพักกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร (กระทำต่อเนื่องจากการกล่าวต่อเสด็จพ่อฟ้า
เสด็จแม่ดิน)
การเตรียมเครื่องสักการะบูชาอันประกอบด้วย
๑.) ผลไม้ ๓ , ๕ , ๗ หรือ ๙ อย่าง
๒.)
ดอกบัว ๙ ดอก
๓.)
น้ำเปล่า-น้ำชา อย่างละ ๑ ถ้วย
๔.)
ธูป ๙ ดอก
๕.)
เทียนขาว ๑ คู่
การตั้งจิตอธิษฐานขอพักกรรม
๑.) กราบบูชาพระรัตนตรัย ๓ ครั้ง
๒.)
ระลึกถึงบาปกรรมที่ตนเองได้เคยกระทำผิดพลาดไว้ในอดีตที่ผ่านมา
และให้มีจิตสำนึกถึงผลกรรมของการกระทำนั้นๆ เพื่อการขอขมาต่อเจ้ากรรมนายเวร
๓.)
ภาวนาบทสวดดังต่อไปนี้
“พระอิติสุคะโต พระอะระหังพุทโธ พระนะโมพุทธายะ พระปฐวีคงคา นะมา มิหัง” ( ๒ จบ )
“พระอิติสุคะโต พระอะระหังพุทโธ พระนะโมพุทธายะ พระปฐวีคงคา ขะมา มิหัง” ( ๑ จบ )
๔.) ตั้งจิตอธิษฐานเพื่อการให้สัจจะต่อ
“ตนเอง” และต่อ “พระมหาโพธิสัตว์”
เพื่อการละจากความชั่ว หรือการกระทำในสิ่งไม่ดีที่ตนเองยังมีความบกพร่อง
หรือยังมีการกระทำที่ผิดพลาดอยู่
เช่น
ก. ประพฤติตนให้อยู่ใน “ศีล
๕” ของพระพุทธองค์ ตามที่สามารถปฏิบัติได้
ข. เริ่มต้นปฏิบัติตนอยู่ใน “ศีลเจ”
ของพระมหาโพธิสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละจากการบริโภคเนื้อโค กระบือ
ค. รักษา พรหมวิหาร ๔ โดยละจากการกระทำสิ่งใดๆ
ที่เป็นการเบียดเบียนตนเอง หรือเบียดเบียนผู้อื่น เป็นต้น
๕.) ตั้งจิตอธิษฐานขอพรต่อพระมหาโพธิสัตว์
เพื่อขอพระเมตตาบารมีในการเป็นสักขีพยาน ว่าจะค่อยๆ
ผ่อนปรนในการใช้หนี้กรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร
และขอพระพรเพิ่มเติม พื่ออุทิศอานิสงส์บุญกุศลที่เกิดจากการกระทำที่ตนเองได้ให้สัจจะไว้แล้วในการชดใช้หนี้กรรมต่อเหล่าเจ้ากรรมนายเวร
เพื่ออโหสิกรรมซึ่งกันและกัน
( ตัวอย่างขั้นตอนการกล่าวต่อพระมหาโพธิสัตว์โดยละเอียด )
๑.) กราบ ๓ ครั้ง
เพื่อบูชาคุณแห่งพระรัตนตรัย
อันประกอบด้วยพระพุทธ
พระธรรม
พระอริยะสงฆ์
๒.) กล่าวคำภาวนา
“พระอิติสุขะโต
พระอะระหังพุทโธ
พระนะโมพุทธายะ
พระปฐวีคงคา นะมามิหัง
พระอิติสุขะโต
พระอะระหังพุทโธ
พระนะโมพุทธายะ
พระปฐวีคงคา นะมามิหัง
พระอิติสุขะโต พระอะระหังพุทโธ พระนะโมพุทธายะ พระปฐวีคงคา ขะมามิหัง
ข้าพุทธเจ้า
ขอน้อม กาย วาจา ใจ ระลึกบูชา คุณแห่งพระรัตนตรัย อันประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม พระอริยะสงฆ์
และขอน้อมถวายนมัสการต่อพระมหาโพธิสัตว์
ข้าพุทธเจ้าได้มีความพร้อมใน
กาย วาจา ใจ จัดเตรียมเครื่องสักการะบูชาและ ผลไม้ตลอดจนน้ำเปล่าและน้ำชา
เพื่อตั้งจิตถวายต่อพระมหาโพธิสัตว์เป็น พุทธบูชา ธรรมะบูชา อริยะสงฆ์เจ้าบูชา
จึงทูลขอพระเมตตาได้โปรดพิจารณารับในการทูลเกล้าถวายจากข้าพุทธเจ้าด้วยเถิด
พระพุทธเจ้าข้า.”
๓.) กล่าวต่อไปว่า
“พระอิติสุขะโต
พระอะระหังพุทโธ
พระนะโมพุทธายะ
พระปฐวีคงคา ขะมามิหัง
ข้าพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรมคำสอนในกฎแห่งกรรม และการรู้ผิดในการกระทำ
ที่ก่อเกิดเป็นหนี้กรรมกันต่อท่านเจ้ากรรมนายเวร ในวันนี้ข้าพุทธเจ้าได้สำนึกถึงการผิดพลาด
และขอตั้งจิตในการให้สัจจะเพื่อไม่กระทำสิ่งผิดพลาด
และประพฤติปฏิบัติตามแนวพระธรรมคำสอนเป็นข้อๆ ดังนี้
ก.) ……
( เช่น จะไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์ใหญ่ โค กระบือ ตลอดไป )
ข.) …… ( เช่น
ไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์ในวันพระจีน
ตลอดระยะเวลา ๓ เดือนในช่วงเข้าพรรษาหรืออย่างน้อย ๓ วันติดต่อกัน )
ค.) …… ( เช่น รักษาศีลพรหมวิหารธรรม ) เป็นต้น.
ข้าพุทธเจ้าจึงทูลขอพระเมตตาจากพระมหาโพธิสัตว์
ได้โปรดเป็นสักขีพยาน
และทูลขอพระเมตตาในพระพรพระบารมีเสริมเพิ่มเติมต่อตัวข้าพุทธเจ้า
และท่านเจ้ากรรมนายเวร
ให้เป็นความสำเร็จสมบูรณ์ตามสัจจะที่ให้ไว้ตามที่พระองค์จะทรงเมตตาเห็นสมควรด้วยเถิด
พระพุทธเจ้าข้า.”
๔.)
กล่าว
“พระอิติสุขะโต
พระอะระหังพุทโธ
พระนะโมพุทธายะ
พระปฐวีคงคา ขะมามิหัง
ข้าพุทธเจ้าทูลขอขะมาในสิ่งผิดพลาด
หรือขาดตกบกพร่องโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ว่าด้วย กาย วาจา ใจ
เพื่อมิให้ก่อเกิดเป็นวิบากกรรมสืบต่อไป ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า.”
๕.)
กราบนมัสการ ๓ ครั้ง